(บทสรรเสริญ10บทแห่งพระคุรุมรุตปุราธีศะ บทที่6)
भृगुकुलोद्भवं रामनामकं सुगुणभासुरं रेणुकात्मजम्।
नृवरतापसं केरळाधिपं गुरुमरुत्पुराधीशमाश्रये॥
ภฤคุกุโลทฺภวํ รามนามกํ สุคุณภาสุรํ เรณุกาตฺมชมฺฯ
นฤวรตาปสํ เกรฬาธิปํ คุรุมรุตฺปุราธีศมาศฺรเยฯ।
คำอ่าน
ภฤคุกุโลทภะวัม รามะนามะกัม สุคุณะ ภาสุรัม เรณุกาตมะชัม
นฤวะระ ตาปะสัม เกระฬาธิปัม คุรุมะรุตปุราธีศะมาศระเย
อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย
บฺริกุ กุโล้ดภะวัม รามะนามะกัม สุกุห์ณะ ภาสุรัม เรณุก้าตฺมะจัม
นฺริวะวะระ ตาปะซัม เกระลาธิปัม กุรุมะรุตปุราธิชะมาชฺระเย
คำแปล
พระผู้ทรงมีนามว่า ราม ผู้อุบัติถือกำเนิดขึ้นในตระกูลแห่งพระภฤคุ ผู้ทรงเรืองรองด้วยคุณธรรม พระผู้ทรงถือกำเนิดแด่พระนางเรณุกา
พระผู้ทรงเป็นประมุขแห่งเหล่าดาบส ผู้เป็นเจ้าเหนือเกรละ ข้าแต่พระคุรุมรุตปุราธีศ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระองค์เป็นที่พึ่ง.
หมายเหตุ
คุรุมรุตปุระ หรือ คุรุวายุปุระ หมายถึง เมืองคุรุวายูร ในเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระคุรุวายุปุราธีศ หรือ คุรุวายูรัปปัน เทวรูปพระวิษณุที่พระอุทธวะ ผู้เป็นภารดา และสหายของพระกฤษณะ ได้รับมาจากกฤษณะ ให้รักษาดูแลก่อนในสิ้นยุค ซึ่งคลื่นยักษ์จะเข้าท่วมทวารกา โดยเทวรูปนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจาก วสุเทพ และเทวกี ซึ่งในชาติก่อนๆของทั้งสอง ก็ได้ปรนนิบัติบูชาซึ่งพระปฏิมานี้ซึ่งได้รับประทานมาจากพระพรหมา ต่อมาอุทธวะ ได้อาราธนาถึงพระพฤหัสปติ ผู้เป็นคุรุ ให้นำเทวปฏิมาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประดิษฐานยัง ปุณยสถาน อันควรแก่การบูชา โดยมีพระวายุเทพเป็นผู้ช่วย ซึ่งองค์เทวทั้งสองได้ประดิษฐานองค์มูรติ ณ ตอนใต้ของภารตวรรษ ที่ซึ่งพระเทวะทั้งสองได้พบกับพระศิวะ กับ พระไหมวตี ซึ่งกำลังร่ายรำบูชาอยู่ซึ่งพระวิษณุ และได้รับการชี้แนะจากพระมหาเทพให้ประดิษฐาน องค์ภควาน ณ ที่แห่งนั้น โดยทรงประทานนามแด่ ปุณยสถานนั้นว่า คุรุวายุปุระ อันมาจากพระนามของเทวะทั้งสอง
ภฤคุ คือ หนึ่งในมนัสบุตรของพระพรหมา เป็นหนึ่งในสัปตฤๅษี มีชายาสามองค์ คือ ขยาติ กาวยมาตา และปุโลมา ลูกหลานของท่านจะได้รับการเรียกขานว่า ภารควะ และภารควี โดยพระฤๅษีชมทัคนิ ผู้บิดาแห่งองค์ปรศุราม เป็นหนึ่งในภารควะ หรือ ผู้สืบเชื้อสายจากพระฤๅษีภฤคุ
ราม หมายถึง ผู้มีผิวสีคล้ำเข้ม ผู้มีความพึงพอใจ ผู้มีความสุขสำราญ ในการอวตารขององค์พระหริ พระองค์ทรงได้รับการเรียกขานในนาม ราม ถึง สามรูป หากแต่ในอวตารรูปหนึ่งทรงอาวุธเป็นปรศุ หรือ ขวานเป็นเอกลักษณ์ จึงมีนามว่า ปรศุราม และ ในอีกรูปอวตารหนึ่ง ทรงคันไถเป็นอาวุธ และมีพลกำลังมาก จึงมีนามว่า พลราม หมายถึง รามผู้ทรงพลกำลัง อีกทั้งนาม หลธร และ หลายุธ อันมาจากการมีคันไถเป็นอาวุธ
เกรฬาธิป เป็นนามหนึ่งของปรศุราม อันมาจากตำนานที่ว่า หลังจากองค์ปรศุราม ได้วางมือจากการเข่นฆ่าเหล่ากษัตริย์แล้ว พระองค์ได้ทิ้งขวานลงมหาสาครด้านทิศใต้ ยังให้เกิดซึ่งพื้นแผ่นดินใหม่ขึ้นมา เป็นเกรละ และ ตุลุนาฏุ (ทักษิณกันนฑะ) ในปัจจุบัน.
มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)