เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

ศรี โคเปศวร พระศิวะในรูปของโคปี

ศรี โคเปศวร มณเฑียร (श्री गोपेश्वर मंदिर/Sri Gopeshwar Mandir) เป็นหนึ่งในปุณยสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ อันตั้งอยู่ในวฤนทาวัน (वृन्दावन/Vrindavan) ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะ เป็นภูโลก วฤนทาวัน หรือ โคโลก ที่ได้มาตั้งอยู่ในโลกวัตถุนี้ และเป็นสถานที่พระกฤษณะ อวตารลงมาแสดงลีลาในวัยเด็กของพระองค์ พร้อมทั้ง ศรีมตี ราธา รานี อันเป็น หฺลาทินี ศักติ หรือ พลังอำนาจแห่งความสุขทิพย์ของพระองค์
ศรี โคเปศวรนั้นได้รับการบูชาในฐานะ ผู้ประทานเปรมะ ภักติ (การอุทิศตนเสียสละ ด้วยความรักจากใจจริง) เฉกเช่นที่เหล่าโคปีมี โดยเรื่องราวขององค์พระโคเปศวรนั้นมีปรากฏใน ครรคะ สังหิตา อันมีเนื้อความดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่ง เมื่อการร่ายรำมหาราสะ กำลังเริ่มขึ้น พระกฤษณะ (श्रीकृष्ण/Sri Krishna) ทรงเป่าขลุ่ยเพื่อเรียกหาเหล่าโคปิกา ที่มีความรัก และภักดีต่อพระองค์มารวมตัวกันในป่าสวนอันร่มรื่น ของวฤนทาวัน ภายใต้แสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ฤดูใบไม้ร่วง เพื่อแสดงราสลีลา (การร่ายรำศักดิ์สิทธิ์) ร่วมกับพระองค์ เพื่อตอบสนองต่อการอุทิศตนทางจิตวิญญาณของพวกนาง ที่มีต่อพระองค์ ด้วยความรัก การอุทิศตน แลการระลึกถึงพระองค์เสมอในฐานะคนรัก และเพื่อน อีกทั้งเพื่อยังให้พรตของพวกนางที่ได้กระทำต่อ พระเทวี กาตยายนี (कात्यायनी/Katyayani) เพื่อให้ได้สมหวังในความรักทิพย์นั้นบรรลุผล พระองค์ ผู้โคปิกาวัลลภ (ผู้เป็นที่รักของเหล่าสาวเลี้ยงโค) จึงมีพระประสงค์ให้มี ราสลีลานี้ขึ้น
ขณะเดียวกัน เสียงขลุ่ยทิพย์นี้ก็ได้ต้องเข้ากับพระโสต แห่งองค์พระโยเคศวร สทาศิวะ (योगेश्वर सदाशिव/Yogeshwara Sadashiva) ผู้คิรีชาปติ (ผู้เป็นบดีแห่งพระนางคิรีชา) ซึ่งกำลังกระทำสมาธิอยู่ ณ เขาไกลาศ (कैलाश/Kailasha) เมื่อพระองค์ได้สดับฟังเสียงขลุ่ยทิพย์นั้นแล้ว ก็บังเกิดความปรารถนาที่จักไปร่วมราสลีลา แห่งองค์ภควาน ศรี ศยามสุนทร เมื่อมีความปรารถนาเช่นนี้แล้วพระมหาเทพจึงรุดไปยัง สถานแห่งราสมณฑล หากแต่พระโยคมายา (योगमाया/Yogamaya)ได้มาหยุดยั้งพระองค์ไว้ โดยแจ้งแก่พระคิรีศวร ว่า ราสมณฑลนี้ ห้ามบุรุษอื่นเข้าไป นอกจากพระศรี ศยามสุนทร หากพระองค์ปรารถนาจักเข้าไปในราสมณฑลนี้ พระองค์จักต้องมีรูปแห่งโคปี อันกอปรด้วย โคปีภาวะ หรือ สขีภาวะ และ เปรมภักติ เท่านั้น

พระไกลาศนาถ จึงตรัสถามพระนางว่า พระองค์จักได้รับรูปแห่งนางโคปิกาได้อย่างไร พระไวษณวีเมื่อได้รับคำถามจากพระมหาเทพเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวชี้แนะให้พระองค์ไปพึ่งพิง วฤนทา เทวี (พระแม่ตุลสี) เป็นสรณะ พระนางจักช่วยพระองค์
เมื่อได้รับการชี้แนะจากพระเทวีแล้ว องค์พระมหาเทพก็มิรอช้า รีบรุดไปเข้าพบวฤนทา เทวี (वृन्दा देवी/Vrinda Devi)เพื่อให้พระนางช่วยเหลือ เมื่อพระตุลสีเทวีทราบถึงความประสงค์ ขององค์พระนีลกัณฐ์แล้ว พระนางจึงตรัสแก่องค์พระสทาศิวะ ให้พระองค์ลงสรงสนานในแม่น้ำยมุนา แล้วจักได้รับรูปแห่งนางโคปิกา หลังจากได้รับพระกรุณาของวฤนทา เทวี ผู้วิษณุปริยาแล้ว พระองค์ก็ได้ลงสรงสนานในน้ำยมุนา และได้รับรูปแห่งสาวเลี้ยงโค ด้วยพระเมตตาทิพย์ของวฤนทา เทวีนั้น

เมื่อได้รับรูปแห่งนางโคปิกาแล้ว พระศิวะในรูปของโคปีจึงได้สวดอ้อนวอนต่อ ราธา กฤษณะ เพื่อรับโคปีภาวะ และเปรมภักติ เมื่อได้รับซึ่งโคปีภาวะ และเปรมภักติแล้ว พระองค์จึงได้เข้าไปยังราสมณฑล ร่วมร่ายรำกับ พระกฤษณะด้วยความรักทิพย์
เมื่อการร่ายรำราสลีลาผ่านไปช่วงหนึ่ง องค์ภควาน ศรีโคปินาถ ได้หยุดราสลีลาลง และตรัสขึ้นว่า พระองค์มิพอพระทัย กับ การร่ายรำนี้ มีบางสิ่งไม่ถูกต้อง ข้าคิดว่า มีบุรุษใด บุรุษหนึ่งนอกเหนือจากตัวข้า อยู่ ณ ที่แห่งนี้ร่วมกับพวกเรา จากนั้นพระองค์ได้ขอให้ ลลิตา เทวี หนึ่งในพระสหายคนสนิทหนึ่งในแปดนางของพระองค์ และศรีมตี ราธารานี เข้ามาตรวจสอบว่า มีบุรุษอื่นปลอมตัวเข้ามาในหมู่โคปีหรือไม่ ลลิตา สขี ได้เข้าตรวจสอบโคปีแต่ละคน นับร้อยคนที่ได้เข้าร่วมราสมณฑลอย่างละเอียด และนำความไปแจ้งแก่ พระโคปินาถว่า ไม่มีบุรุษใดปลอมตนมา หากแต่มีโคปีนางหนึ่ง แปลกมาก นางนั้นมีสามตา

เมื่อทราบเช่นนั้น องค์พระมาธวะ ก็ได้ขอให้ลลิตา เทวี พานางมาเข้าพบ เมื่อพระปุรุโษตตมะ ได้แลเห็นพระศิวะ ผู้เป็นที่รักในรูปโคปีเช่นนั้นแล้วก็ทรงสรวลขึ้น แล้วตรัสขึ้นว่า ดูก่อนพระโคเปศวร ข้ายินดีมากที่ได้เห็นพระองค์ในรูปนี้ หากแต่พระองค์นั้นทราบดีว่า การร่ายรำราสะนี้ไม่เหมาะแก่ คฤหัสถ์ ดังนั้นเมื่อพระองค์ได้มีส่วนร่วมในการร่ายรำทิพย์นี้ และเติมเต็มความปรารถนาของพระองค์แล้ว อันตัวข้าปรารถนาให้พระองค์ เป็น ราสะ ทวารปาละ (ผู้ดูแลราสมณฑล) และให้พระองค์ได้รับการบูชาจากเหล่าโคปี เพื่อให้ได้รับพรในโคปีภาวะ และเปรมภักติ

ด้วยประการฉะนี้ พระศิวะ จึงได้รับการบูชาจาก พฤชวาสี (बृजवासी/Brijavasi)(ผู้อาศัยในวฤนทาวัน) ในฐานะ โคเปศวร หรือ ผู้ดูแลควบคุมเหล่าโคปี โดยทรงได้รับการบูชาในรูปของนางโคปี โดยการบูชาพระองค์ โคเปศวรนั้น เป็นไปเพื่อการเจริญทางจิตวิญญาณ ในการอุทิศตนเสียสละรับใช้ องค์ภควาน ศรีกฤษณะ

แหล่งอ้างอิง
http://www.bhagavatam-katha.com/vrindavan-story-lord…/

http://bhaktirasayana.blogspot.com/…/gopisvara-mahadeva…

ศรี คุรุวายูร กฤษณะ ภักตะ กิตติกร
(กิตติกร อินทรักษา)
03/03/2022

เคาระปักษ์ ประติปดา โควินทมาส (ผาลคุนมาส) วิกรม สมวัต 2078