เทวะตำนาน

เอกานังศา และ วินธยวาสินี

จากบทความก่อนเราได้พูดถึง พระนางสุภัทรากันไป ถึงตำนานความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับการกำเนิดของพระนาง ยังรวมถึงตำนานโดยคร่าวของ เอกานังศา (एकानंसा/Ekanamsha) อวตารของพระอัมพิกาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่มาเป็นตัวตาย ตัวแทนกฤษณาวตาร และ พระนางวินธยวาสินี (विन्ध्यवासिनी/Vindhyavasini) ซึ่งมิใช่ผู้ใดอื่น นอกจากพระภวานี หรือ เอกานังศาเอง ในครั้งนี้เราจะมากล่าวถึงเรื่องราวของ พระแม่วินธยวาสินี ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
(ที่จริงที่ลงไปในเรื่องของ พระนางสุภัทราก็ชัดเจนแล้ว แต่มีความประสงค์มาแยกเป็นอีกโพสต์หนึ่ง)
อ่านเรื่อง สุภัทรา ปูรวชนมะ รหัสยะ ได้ตามลิงก์นี้
อันขุนเขาวินธยาจล (विन्ध्याचल/Vindhyachala) นั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ตอนกลางส่วนบนของอนุทวีปอินเดีย ในสมัยโบราณเทือกเขาวินธยนี้ได้เป็นที่กำหนดเขตแดนทางวัฒนธรรมระหว่าง อินเดียใต้ และอินเดียเหนือ และมีตำนานผูกว่า ขุนเขานี้เคยยิ่งใหญ่จนบดบังดวงตะวัน ยังให้พระฤๅษีอคัสตยะ (ऋषि अगस्तय/Rishi Agastya) ต้องมาแก้ปัญหานี้ ด้วยอุบายให้เจ้าแห่งขุนเขาวินธัยเปิดทางให้ตนไปดินแดนทราวิฑ ในทิศทักษิณ จนกว่าพระฤๅษีจะกลับมา ซึ่งจากนั้นเป็นต้นมา พระฤๅษีอคัสตยะก็พำนักอยู่ในดินแดนทักษิณ ไม่ได้กลับมาอีกเลย นอกจากนี้วินธยาจลยังเป็นหนึ่งในปุณยเกษตร หรือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวฮินดูอีกด้วย ด้วยเชื่อว่า ณ ที่แห่งนี้เป็นที่พำนักของพระชคัทรักษกี (जगत्रक्षकी/Jagatrakshaki)(พระนางผู้คุ้มครองโลก)ในกลียุค เช่นเดียวกับ เขาตริกูฏในกัศมีระ (แคชเมียร์) เพื่อปกปักษ์คุ้มครองผู้ประพฤติในธรรม และขจัดซึ่งเหล่ามาร ยังให้พระนางทรงมีอีกพระนามหนึ่งว่า วินธยวาสินี (विन्ध्यवासिनी/Vindhyavasini) อันหมายถึง พระนางผู้ทรงประทับพำนักบนเขาวินธย
ปกรณัมของ พระวินธยวาสินี เกี่ยวเนื่องจาก กฤษณาวตาร ซึ่งถูกกล่าวถึงในคัมภีร์เทวี มหาตมยะ (มารกัณเฑยะ มหาปุราณะ),ศรีมัทภาควตะ มหาปุราณะ และ พรหมไววรรตะ มหาปุราณะ ถึงการอวตารของพระมหาเทวี ในนามนันทชา,กฤษณานุชา หรือ เอกานังศา โดยมีเนื้อหาดังนี้
เมื่อครั้นพระชคัทปาลกจักเสด็จอวตารลงมายัง ภูโลก (พื้นพิภพที่เราอาศัยอยู่กันนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสี่ภพภูมิในคติฮินดู) ตามคำอาราธนาของเหล่าทวยเทพ และพระภูเทวี รวมถึงเหล่ามุนี นักสิทธิทั้งหลาย เพื่อดำรงธรรมให้สืบไว้ และขจัดหมู่มารในพื้นปฐพี
พระองค์ทรงอาราธนาถึง พระโยคมายา (योगमाया/Yogamaya) อันเป็นรูปปรากฏแห่งพลังมายา หรือ พลังอำนาจเบื้องต่ำของพระองค์เอง ให้ปรากฏขึ้นยังเบื้องพระพักตร์ และมีโองการให้พระนางสับเปลี่ยนทารกในครรภ์ของเทวกี (देवकी/Devaki) อันเป็นส่วนของ พญาเศษะนาค ไปยังครรภ์ของโรหิณี (रोहिणी/Rohini) ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ในวฤนทาวนะ ด้วยหวาดเกรงในพญากังสะ จากนั้นเมื่อพระองค์เสด็จสู่ครรภ์ของเทวกีแล้ว ให้พระนางบังเกิดแก่ครรภ์นางยโศทา ภรรยาของนันทะ โคบาล ในวฤนทาวนะ ดังข้อความในคัมภีร์ศรีมัทภาควตัม ดังนี้
เทวกี และวสุเทพอยู่ในที่คุมขังของกังสะ บัดนี้ เศษะ อันเป็นภาคแบ่งแยกของเราได้ไปอยู่ในครรภ์ของเทวกี เธอจงไปจัดการย้าย เศษะ จากครรภ์เทวกีไปอยู่ในครรภ์ของนางโรหิณี จากนั้นแล้วเราจักไปปรากฏในครรภ์ของเทวกีด้วยพลังอำนาจอันสมบูรณ์ เราจักเป็นบุตรของเทวี แลวสุเทพ เธอจงไปเกิดเป็นธิดาของนันทะ แลยโศทาในวฤนทาวนะเทอญ
ด้วยปรากฏเป็นน้องสาวเรา ผู้คนจักบูชาเธอด้วยสิ่งของมีค่ามากมาย เช่น เครื่องสุคนธรส ดวงประทีป หมู่มวลบุปผา แลเครื่องสักการะต่างๆ เธอจักยังให้ความปรารถนาของพวกเขาสมประสงค์โดยเร็ว ผู้คนทั้งหลายที่ยึดติดในวัตถุจักบูชาเธอภายใต้นาม และรูปลักษณ์ต่างๆ ที่เธอได้ปรากฏแบ่งภาคออกมา เช่น ทุรคา ภัทรกาลี วิชยา ไวษณวี กุมุทา จัณฑิกา กฤษณา มาธวี กันยกา มายา นารายณี อีศานี ศารทา แลอัมพิกา
พระเทวีทรงรับพระบัญชา และปฏิบัติตาม เมื่อองค์นารายณ์อวตาร ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ด้วยความช่วยเหลือของพระนาง ยังให้วสุเทพหลุดพ้นจากพันธนาการ สามารถข้ามฝั่งน้ำยมุนาไปสลับสับเปลี่ยน พระโอรส กับ ธิดาของนันทะได้ตามโองการองค์นารายณ์ ครั้นกลับมายังคุกหลวงแล้ว พระนารายณีก็คลายมนต์มายา ทำให้ทุกผู้ได้รู้ถึงการกำเนิดของพระธิดา เมื่อข่าวการกำเนิดของกุมารีน้อยไปถึงหูกังสะ กังสะก็รีบรุดมายังคุกหลวง และคว้ากุมารีน้อยไว้ หมายจะทุบกับศิลาให้แหลกละเอียด หากแต่กุมารีน้อยผู้โกมลางคี (โกมล-อังคี หมายถึง นางผู้มีร่างกายบอบบาง) กลับหลุดลอยไปบนนภากาศ ปรากฏเป็นเทพีทรงแปดกร พระวรกายเจิดจรัสส่องอำไพด้วยเครื่องอลงกรณ์นับไม่ถ้วน ในพระกรทรงอาวุธอันหลากหลายไว้ครบครัน เมื่อนั้นพระเทวีทรงตรัสด้วยพระสุรอันกึกก้อง ว่า “เจ้าผู้โชดชั่วเอ๋ย เจ้าจักสังหารข้าได้อย่างไรกันเล่า ในเมื่อบัดนี้ผู้ที่จะสังหารเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้วก่อนหน้าข้า”
เมื่อกังสะได้เห็น และฟังเช่นนั้นแล้วก็ตกใจกลัวเป็นยิ่งนัก เมื่อตักเตือนมารแล้ว พระเทวีก็อันตรธานหายไป เหล่าทวยเทพ กินนร คนธรรพ์ อัปสร แลเหล่านักสิทธิทั้งหลายต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญพระเทวีเจ้า แลอาราธนาให้พระทุษฏสังหาริณี (พระนางผู้ทรงสังหารหมู่คนชั่ว) ประทับยังพื้นปฐพีเพื่อคุ้มครองผู้ประพฤติในธรรม และขจัดหมู่มารในโลกหล้า พระชคทัมพิกา ทรงตอบสนองต่อคำอาราธนาของเหล่าผู้ภักดี จึงทรงประทับในโลกนี้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บนพื้นปฐพี ทรงมีรูป และนามที่หลากหลายกันไป ในขณะที่คัมภีร์เทวีมาหาตมยะ หรือ ศรี ทุรคา สัปตศตี ส่วนหนึ่งของมารกัณเฑยะปุราณะ กล่าวว่า ภายหลังกำเนิดเป็นธิดาของนันทะแล้ว พระนางได้ทรงพำนักสถิตบนขุนเขาวินธัย เพื่อขจัดหมู่มารที่จะเกิดขึ้นในบนพื้นปฐพีในกาลต่อไป จึงยังให้พระนางทรงมีพระนามว่า วินธยวาสินี (विन्ध्यवासिनी/Vindhyavasini) และเนื่องด้วยทรงปรากฏเป็นธิดาของนันทะ และพระขนิษฐาในองค์พระกฤษณะ จึงทรงมีนามว่า นันทชา (नन्दजा/Nandajaa)และ กฤษณานุชา (कृष्णानुजा/Krishnanujaa) ด้วยทรงกำเนิดได้เพียงราตรีเดียว จึงยังทรงให้พระนางมีอีกพระนามว่า เอกานังศา (एकानंशा/Ekanamsha) อันหมายถึง พระนางผู้เป็นหนึ่ง ผู้ไร้ซึ่งการสืบทอด (อนังศะ หมายถึง ไร้การสืบทอด หรือ ไม่ได้รับการสืบทอดมรดก) ซึ่งเป็นนามที่ถูกกล่าวถึงใน พรหมไววรรต มหาปุราณะ
ปัจจุบันเทวสถานพระวินธยวาสินี ตั้งอยู่บนเทือกเขาวินธยาจล ในเขตเมืองมิรซาปูร (मिर्ज़ापूर/Mirzapur) รัฐอุตตรประเทศ (उत्तरप्रदेश/Uttar Pradesh) ไม่ไกลจาก พราณสี และประยาค
รูปเคารพพระแม่วินธยวาสินีภายในเทวสถาน ปรากฏในรูปที่ดูน่าเกรงขาม อีกทั้งยังได้รับการบูชาในรูปแบบ วามมารคะ (ตันตระฝ่ายซ้าย ที่มีพิธีกรรมที่ขัดไปจากหลักพระเวท) หรือ การบูชาในแบบท้องถิ่นด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://bhagavata.org/canto10/chapter2.html
http://www.srimadbhagavatam.org/canto10/chapter4.html
https://www.quora.com/Was-Subhadra-an-incarnation-of-Devi…
หนังสือ องค์ภควาน คริชณะ (Krishna The Supreme Personality of Godhead) ด้วยกรุณาธิคุณจาก เอ.ซี.ภักติเวทานตะสวามี ประภูปาท
หนังสือ เทวีมาหาตมยะ โดย อมเรศ ศิริวัฒน์
เรียบเรียงโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)