เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

ศรี รามานุชาจารย์ – Shri Ramanujacharya

ท่านรามานุชะ (रामानुज/Ramanuja) หรือ รามานุจัร (ராமானுஜர்/Ramanujar)ในสำเนียงเรียกของชาวตมิฬ เดิมนามว่า อิไลยาฬวาร (இளையாழ்வார்/Ilaiyazhvar)
ท่านกำเนิดที่ ศรีเปรุมบุดูร (ஸ்ரீபெரும்புதூர்/Sriperumbudur)
ในสมัยเยาว์วัยท่านได้ศึกษาปรัชญาเวทานตะกับอาจารย์ ยาทวประกาศ (यादव प्रकाश/யாதவ பிரகாசர்/Yadava Prakasha) ที่กาญจีปุรัม แต่ศึกษาอยู่ได้ไม่นานก็ทะเลาะกับอาจารย์เกี่ยวกับการตีความบางตอนในคำสอนอุปนิษัท จึงถูกขับไล่ออกจากสำนัก ท่านจึงไปอยู่กับลุงนาม มหาปูรณะ หรือ เปริยะ นัมบิ (பெரிய நம்பி /Periya Nambi) ซึ่งเป็นพี่ของมารดา ต่อมามหาปูรณะได้พาท่านไปหา ยามุนาจารย์ (यमुनाचार्य/யமுனாசார்யர்/Yamunacharya) หัวหน้าสำนักแห่งศรีรังคัม เพื่อไปอาศัยที่นั่น แม้ยามุนาจารย์เองก็ได้ทราบถึงกิตติศัพท์ความปราดเปรื่องของรามานุชะ จึงปรารถนาที่จะแต่งตั้งรามานุชะให้เป็นหัวหน้าสำนักแทนตนที่ชรามากแล้ว แต่ความปรารถนาของยามุนาจารย์ยังไม่ทันสัมฤทธิผลก็ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่รามานุชะจะเดินทางไปถึง
ตามที่กล่าวขานกันนั้น กล่าวว่า เมื่อรามานุชะเดินทางมาถึงที่เผาศพของยามุนาจารย์ ก็ได้เห็นนิ้ว 3 นิ้วในมือขวาของยามุนาจารย์กำไว้แน่น จึงสันนิษฐานว่า ยามุนาจารย์มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าอยู่ สามประการที่ยังทำมิสำเร็จ และหนึ่งในนั้นคือ การปรารถนาที่จะรจนาอรรถกถาพรหมสูตรที่ถูกต้องขึ้นมา

ต่อมารามานุชะช่วยสนองความปรารถนาของยามุนาจารย์ได้สำเร็จ โดยได้รจนาอรรถกถาพรหมสูตรขึ้นมาฉบับหนึ่งให้นามว่า ศรีภาษยะ (श्रीभाष्य/Sri Bhashya)
ตามที่กล่าวขานกันนั้น กล่าวว่า วันหนึ่งรามานุชะได้ยินทิพยเสียงว่า “เราเป็นความจริงสูงสุด ผู้ทรงไว้ซึ่งราศีอันรุ่งเรืองแห่งทิพยอำนาจ เอกภาพ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในพหุภาพและสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านพหุภาพ การสยบตนให้แก่เราโดยสิ้นเชิงเป็นหนทางนำไปสู่โมกษะ ความอุตสาหะพากเพียรของมนุษย์มิเท่ากับความกรุณาของพระภควาน โมกษะจะเกิดขึ้นได้หลังจากหมดลมแล้ว มหาปูรณะเป็นครูที่ดีที่สึดในบรรดาครูทั้งหลาย”
ทิพยเสียงนี้ได้มีอิทธิพลต่อรามานุชะมาก และปรัชญาของท่านก็ตั้งอยู่บนรากฐานคำสอนนี้
เมื่อรามานุชะได้สดับอย่างนี้แล้ว ก็เดินทางกลับมาหาท่านมหาปูรณะ หรือ เปริยะ นัมบิ ต่อมามินานรามานุชะเกิดเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย จึงสละเพศฆราวาสออกบวชเป็นสันยาสี และได้รับขนานนามว่า ราชาแห่งนักพรต (ยติราชา)

งานนิพนธ์ของรามานุชาจารย์นอกจาก ศรีภาษยะซึ่งเป็นงานชิ้นเอกแล้ว ยังมี คีตาภาษยะ (गीतभाष्य/Geeta Bhashya) เวทานตสาระ (वेदान्तसार/Vedantasara) เวทานตทีปะ (वेदान्तदीप/Vedantadeepa) เวทานตสังครหะ (वेदान्तसङ्ग्रह/Vedantasangraha)

ในบั้นปลายชีวิต รามานุชาจารย์ได้สถาปนาเทวสถานขึ้นหลายแห่ง อีกทั้งได้ชักจูงประชาชนให้มาเลื่อมใสในไวษณวะนิกายได้เป็นจำนวนมาก โดยไวษณวะนิกายของ รามานุชาจารย์ มีนามว่า ศรีไวษณวะ ศรีสัมประทายะ (Srivaishnava Srisampradaya) อันถือว่าได้รับความรู้ต่างๆ ต่อมาจาก พระศรี (พระมหาลักษมี)
รามานุชาจารย์นั้นปรากฏอยู่ในโลกนี้ถึง 120ปี นับว่าเป็นนักปราชญ์ที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดผู้หนึ่ง และเชื่อกันว่าท่านเป็นอวตารของ เศษนาค (Sheshanaga) ในกลียุค (Kaliyuga)
ต่อมาภายหลังจากรามานุชาจารย์ถึงแก่กรรมแล้วประมาณ สองร้อยปี ศิษย์ในสำนักต่างๆของท่านก็ได้แยกกันเป็น 2 นิกายย่อย คือ

1.วฑกไล ( வடகலை/Vadakalai)

เป็นสำนักนิกายฝ่ายเหนือ มีเวงกฏนาถเป็นหัวหน้า และมี ติรุมาลา และ กาญจีปุรัม เป็นสำนักใหญ่ อันคำว่า วฑกไลนั้น มาจาก ศัพท์ตมิฬสองคำ คือ วฑักกุ (வடக்கு/Vadakku) หมายถึง ทิศเหนือ (North) และ กไล (கலை/Kalai) หมายถึง วัฒนธรรม (Culture)

นิกายนี้มุ่งมั่นที่จะรักษาธรรมเนียมเดิมและหลักปรัชญาที่รามานุชาจารย์วางไว้ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ใช้ภาษาสันสกฤต ( சமஸ்கிருத/Sanskrit) อันถือเป็นภาษาจากทางเหนือ ของชาวอารยัน ในการสวดสาธยายมนตร์ต่างๆ
วฑกไล มีความเชื่อว่า ทุกคนต้องทำจิตใจให้สะอาดเพื่อรอรับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์พระภควาน (วิษณุ) จะต้องสละทุกอย่างและทำความเพียรพยายามมุ่งเฉพาะพระภควานอย่างเดียว เพื่อรอรับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์

2.เตนกไล ( தென்கலை/Tenkalai)

เป็นสำนักนิกายฝ่ายใต้ มีโลกาจารย์เป็นหัวหน้า และมีศรีรังคัม และกาญจีปุรัม เป็นสำนักใหญ่ อันคำว่า เตนกไล มาจากศัพท์ตมิฬสองคำ คือ เตรกุ (தெற்கு/Terku) อันหมายถึง ทิศใต้ (South) และ กไล (கலை/Kalai) หมายถึง วัฒนธรรม

สำนักนิกายนี้ถือหลักความเหมาะสม จึงเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทั้งมิยอมใช้ภาษาสันสกฤตในการสวดสาธยายมนตร์ ใช้แต่ภาษาตมิฬ (தமிழ் மொழி/Tamil Mozhi) ในรูปแบบกวีขับกล่อม
เตนกไล มีความเชื่อว่า ทุกคนจะต้องรอคอยพระมหากรุณาธิคุณจากพระภควานอย่างเดียวเท่านั้น มิต้องพยายามอย่างอื่น เพราะเมื่อพระภควานโปรดเรา เราก็บรรลุโมกษะได้ แต่ถ้าพระองค์มิโปรดถึงเราจะพยายามอย่างไรก็มิสำเร็จ

แนวปรัชญาวิศิษฏาทไวตะ เวทานตะ

ปรัชญาวิศิษฏาทไวตะ เวทานตะ ของรามานุชาจารย์ มีความหมายคือ เวทานตะ ที่ไม่เป็นสอง แบบพิเศษ คือ มีหนึ่งแบบมีเงื่อนไข หรือมีหนึ่งแบบขยายหรือมีองค์ประกอบ (The qualified monism) คือความจริงแท้มีหนึ่งเท่านั้น ได้แก่ พระภควาน (พระวิษณุ) แต่พระองค์ก็ประกอบด้วยชีวาตมันและสสารรวมกันเป็นสรีระของพระองค์ คือ พระองค์ไม่อาจดำรงอยู่ได้เพียงลำพัง โดยมิอาศัยชีวาตมันและสสาร ดังนั้นเอกภาพจึงมีอยู่ในพหุภาพ หรือส่วนรวม (The whole) ประกอบด้วยส่วนย่อย หรือรามานุชาจารย์ เชื่อว่าความจริงแท้ หรือ อันติมสัจจะมี 3. อย่างคือ ภควาน(พระเจ้า พระผู้มั่งคั่ง) ชีวาตมัน และสสาร เพียงแต่ชีวาตมัน และ สสารจะต้องขึ้นอยู่กับพระภควานเท่านั้น.